ยินดีต้อนรับ ยินดีต้อนรับ ยินดีต้อนรับจร้า

วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

เทคโนโลยีแห่งอนาคต ขับเคลื่อนสังคมโลกยุคใหม่!

สู่ยุค "รถ" ไม่ง้อก๊าซ-น้ำมัน ใน 2 ทศวรรษข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่าจะมีรถยนต์บนท้องถนนทั่วโลกมากกว่า 2,000 ล้านคัน ในขณะเดียวกัน รถยนต์รุ่นประหยัดพลังงานและรถยนต์ที่ใช้พลังงานลูกผสม หรือ "ไฮบริด" ก็จะมีใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่รองรับระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ก็จะมีการพัฒนาอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการใช้พลังงานอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่ารถยนต์-รถประจำทางจะไม่ต้องพึ่งพาการใช้พลังงานจากน้ำมันและก๊าซอีกต่อไป เหตุเพราะรถยนต์อนาคตจะใช้พลังงานจาก "แบตเตอรี่" ชนิดใหม่ ซึ่งรองรับการใช้งานได้นานหลายวันหรือหลายเดือน ก่อนที่จะมีการชาร์จไฟอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการขับรถว่าใช้งานบ่อยแค่ไหน ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังออกแบบแบตเตอรี่ชนิดใหม่ ที่ทำให้รถยนต์วิ่งได้ไกลถึง 400-800 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่วิ่งได้แค่ 80-160 กิโลเมตร โครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ตามเมืองใหญ่จะช่วยให้รถยนต์สามารถชาร์จไฟในที่สาธารณะ และแม้กระทั่งใช้ "พลังงานทางเลือก" ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น พลังงานลม เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากถ่านหินอีกต่อไป สุดยอดเทคโนฯ รับมือภัยคุกคาม ภายใน 5 ปีข้างหน้า เมืองต่าง ๆ จะสามารถป้องกันอาชญากรรมและภัยพิบัติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ด้วยประโยชน์จาก "เทคโนโลยีขั้นสูง" ที่ใช้ในการตรวจจับและคาดการณ์ เกี่ยวกับภัยคุกคามและเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน กรมตำรวจประจำเมืองเอ็ดมอนตัน ประเทศแคนาดา ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจของไอบีเอ็ม เพื่อช่วยลดจำนวนอาชญากรรม เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน และความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด หน่วยงานดังกล่าวใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อดูข้อมูลที่ใกล้เคียงเวลาจริง (เรียลไทม์) และส่งข้อมูลเรื่องอาชญากรรมให้แก่ตำรวจที่กำลังออกตรวจตราดูแลความสงบเรียบร้อยโดยตรง หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จะสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อระบุปัญหา แนวโน้มที่เกี่ยวข้อง และสถานที่เกิดอาชญากรรม เพื่อหาวิธีรับมือและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที นอกจากนี้ หน่วยงานดังกล่าวยังสามารถประเมินผลและตรวจสอบระยะเวลาในการตอบสนองเมื่อได้รับการแจ้งเหตุ เช่น ความล่าช้าในการจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปยังสถานที่เกิดเหตุ และระยะเวลา เดินทาง เพื่อระบุปัญหาที่มีผลกระทบต่อเวลาที่ใช้การตอบสนองโดยรวม โซลูชั่นการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยอาศัยการคาดการณ์ล่วงหน้า (Predictive Policing) เช่น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรม ได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก เพราะเป็นแนวทางใหม่ ที่จะช่วยให้ผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่หน่วยลาดตระเวนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลประวัติที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น การกระทำความผิด การจับกุม และบันทึกการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย เพื่อระบุแบบแผนและอัตราการเกิดอาชญากรรมได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น การเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วนี้เอง ช่วยให้ตำรวจสามารถทำงานได้ชาญฉลาดมากขึ้น และตัดสินใจได้อย่างทันท่วงทีเพื่อรับมืออาชญากรรมทุกรูปแบบ